ผลสำรวจโดยธนาคารยูโอบีชี้ว่ากลยุทธ์การขยายตลาดในระดับภูมิภาคของธุรกิจเอเชีย
เน้นตลาดชนชั้นกลางที่กำลังเติบโตและการแสวงหาทำเลต้นทุนต่ำ

การมุ่งเน้นตลาดชนชั้นกลางที่กำลังเติบโตในเอเชียและการย้ายทำเลไปยังตลาดต้นทุนต่ำคือปัจจัยสำคัญต่อกลยุทธ์ขยายตัวในระดับภูมิภาคของบริษัทในเอเชียตามรายงานผลการสำรวจธุรกิจเอเชียของธนาคารยูโอบีประจำปี 2557 (UOB Asian Enterprise Survey 2014)

การสำรวจธุรกิจเอเชียของธนาคารยูโอบีประจำปี 2557 เป็นรายงานที่จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อศึกษาผลกระทบของกระแสการค้าต่อวิธีการดำเนินธุรกิจและการขยายตัวไปในตลาดภูมิภาคของบริษัทในเอเชียการสำรวจพบว่าภาคธุรกิจโดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มการท่องเที่ยวและบริการสันทนาการเน้นตลาดชนชั้นกลางของเอเชียที่มีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้นรายงานของ Brookings Institute ระบุว่าภายในปี 2573 คาดว่า 2 ใน 3 ของผู้บริโภคชนชั้นกลางในโลกหรือราว 3,200 ล้านคนจะเป็นประชากรเอเชียและสัดส่วนใหญ่ที่สุดอยู่ในประเทศจีน

นายเฟรเดอริก ชิน ผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจลูกค้ารายใหญ่ของกลุ่มธนาคารยูโอบีกล่าวว่าผลสำรวจธุรกิจเอเชียของยูโอบีประจำปี 2557 ย้ำให้เห็นชัดอีกครั้งว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นสร้างโอกาสใหม่ให้แก่ธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์คาดหวังที่สูงขึ้นและรูปแบบการบริโภคที่มากับความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น

“บริษัทที่สามารถสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่ตอบสนองความคาดหวังที่สูงขึ้นของชนชั้นกลางในเอเชียจะมีโอกาสเป็นพิเศษในการสร้างธุรกิจให้ยั่งยืนและแข็งแกร่งในภูมิภาคธุรกิจเหล่านี้จะสามารถเข้าไปแสวงหาประโยชน์ได้ในภูมิภาคเอเชียซึ่งสัมพันธ์กันใกล้ชิดและนับวันยิ่งเชื่อมโยงกันมากขึ้นเพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างมั่งคั่งและยั่งยืน” นายชินกล่าว

ผลการสำรวจยังพบว่าประเทศจีนซึ่งมีประชากรกว่า 1,300 ล้านคนเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ในการขยายธุรกิจของบริษัทในเอเชีย (32%) ส่วนมาเลเซีย (27%) เวียดนาม (24%) และอินโดนีเซีย (19%) ซึ่งชนชั้นกลางเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ก็เป็นทางเลือกในอันดับต้นๆสำหรับการขยายธุรกิจในระดับภูมิภาคด้วยเช่นกัน

ธุรกิจแสวงหากำไรในทำเลที่มีต้นทุนต่ำและตลาดใหม่

แม้จะมีโอกาสมากในการจับตลาดชนชั้นกลางของเอเชียแต่ธุรกิจเอเชียบางแห่งก็ยังต้องต่อสู้กับต้นทุนที่สูงขึ้นในการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคผู้ตอบแบบสำรวจ 22% ยกเหตุผลของต้นทุนที่สูงขึ้นว่าเป็นปัจจัยหลักที่จำกัดการเติบโตของธุรกิจส่วน 15% บอกว่าแผนการขยายธุรกิจไปในภูมิภาคได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงาน

ในส่วนของธุรกิจในภาคการผลิตมีการแสวงหาทำเลตั้งโรงงานในตลาดที่ต้นทุนค่อนข้างไม่สูงนักเช่นประเทศเวียดนาม และเมียนมาร์

นายซวน เต็ก คิน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของยูโอบีกล่าวว่า “ต้นทุนจากการผลิตและแรงงานในเมืองที่มีความเจริญมากในประเทศจีนและประเทศสิงคโปร์สูงขึ้นเรื่อยๆส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจเอเชียกำลังมองหาทำเลในเมืองอื่นๆ

ของประเทศจีนที่มีต้นทุนต่ำกว่าหรือย้ายฐานการผลิตที่ต้องใช้แรงงานสูงไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีค่าจ้างต่ำกว่าวิธีการนี้ช่วยธุรกิจให้ลดต้นทุนและยังคงเชื่อมต่อกับฐานผู้บริโภคชนชั้นกลางกลุ่มใหญ่ในเอเชียได้”

ธุรกิจจีนราว 40% ที่ตอบแบบสำรวจกล่าวว่าพวกเขากำลังพิจารณาย้ายออกจากฐานธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีไปยังตลาดผู้บริโภคเกิดใหม่ที่มีต้นทุนต่ำกว่าในภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคกลางของจีนเช่นเมืองหนานหนิง เมืองฉงชิ่งและเมืองเฉินตู

ธุรกิจให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางการค้าในการเลือกทำเลใหม่

นอกจากนั้นเมื่อต้องตัดสินใจเลือกทำเลที่จะขยายตลาดไปในระดับภูมิภาคธุรกิจเอเชียมักให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของผู้ที่มีสายสัมพันธ์ทางสังคมและการแนะนำทางวาจาผลการสำรวจพบว่าผู้นำของธุรกิจเอเชียเกือบครึ่งตอบแบบสำรวจว่าพึ่งพาคำแนะนำของบุคคลที่ติดต่อทางธุรกิจและส่วนตัวที่ใช้ภาษาหรือมีวัฒนธรรมแบบเดียวกัน (24%)หรือสมาคมทางการค้าและที่ปรึกษาทางการเงิน (20%) ในการตัดสินใจว่าจะขยายตลาดไปในภูมิภาคเมื่อไรและอย่างไร

“ผลกระทบจากเครือข่าย” คือปัจจัยหลักที่ช่วยให้เกิดการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างยูโอบีกับสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของจีน (China Council for the Promotion of International Trade) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะขยายการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศระหว่างประเทศจีนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ในจังหวะที่ธุรกิจเอเชียกำลังขยายไปทั่วภูมิภาคเครือข่ายที่ครอบคลุมและความเข้าใจในเศรษฐกิจเอเชียอย่างลึกซึ้งของธนาคารยูโอบีทำให้เราอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบในการช่วยลูกค้าวางรากฐานที่แข็งแกร่งในการเติบโตและขยายตัว” นายชินกล่าว

ท่านสามารถหาอ่านรายงานการสำรวจธุรกิจเอเชียของธนาคารยูโอบีประจำปี 2557 ได้ที่ www.uobasianenterprises.com




วันที่ 15 กันยายน 2557
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
สายงานบริหารสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร
ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)

ปริษฐา ยุทธมานพ โทร. 0-2343-4965