นิทรรศการการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ระดับภูมิภาค ประจำปี 2564

ร่วมชมนิทรรศการเสมือนจริง คลิกที่นี่

ร่วมชมนิทรรศการเสมือนจริงของผลงานที่ได้รับรางวัลจากการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ระดับภูมิภาค ประจำปี 2564

2021 UOB Southeast Asian Painting of the Year
2021 UOB Painting of the Year ประเทศมาเลเซีย

Walk in Silence, Don't Walk Away in Silence

Walk in Silence, Don't Walk Away in Silence
Saiful Razman

ผลงาน Walk in Silence, Don't Walk Away in Silence ได้รับแรงบันดาลใจจากความสงบที่ศิลปินได้รับระหว่างการกักตัวในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 ตรงกลางของผลงานแสดงลักษณะของสรวงสวรรค์อันเป็นสถานที่หลบภัยในรูปของบ้านหรืออุโมงค์ที่บริสุทธิ์และเงียบสงบ ลวดลายภูมิทัศน์รอบด้านมีมิติเป็นสัญลักษณ์แห่งขุนเขา

ศิลปินได้ทดลองการม้วนกระดาษทิชชูบางๆ และผ้าก๊อซ เพื่อสร้างระดับชั้นที่ไม่มีตัวตน ทึบแสง และคุมโทนสีแบบ Monochromatic (สีเอกรงค์หรือสีชุดเดียว) สร้างการดึงดูดความสนใจและกระตุ้นการเล่าเรื่องอันคลุมเครือ

Razman สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิจิตรศิลป์ ในปี 2546 จาก Universiti Teknologi MARA เมืองชาห์อาลัม ประเทศมาเลเซีย เขาได้แสดงผลงานในประเทศมาเลเซีย เลบานอน ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ และได้รับการยอมรับครั้งสำคัญเป็นครั้งแรกในฐานะศิลปินในปี 2546 ผ่านการยกย่องเชิดชูในงาน Philip Morris Malaysia Art Awards และในปี 2560 เขาได้รับรางวัลใหญ่จากงาน The Young Contemporaries ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับชาติสำหรับศิลปินร่วมสมัยในประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ เขายังได้เป็นศิลปินในพำนักที่สำนักงานใหญ่ของ Facebook ประเทศสิงคโปร์ ในปี 2563 อีกด้วย

2021 UOB Painting of the Year ประเทศสิงคโปร์

A Dramatic Cinematic for Our Century

A Dramatic Cinematic for Our Century
Keane Tan

ผลงาน A Dramatic Cinematic for Our Century แสดงให้เห็นภาพของ Merlion Park สวนสาธารณะอันเป็นสัญลักษณ์ของสิงคโปร์ ที่ถูกคลื่นสีฟ้าซัดกระหน่ำในสไตล์กราฟิกขั้นสูง โดยผลงานชิ้นนี้อ้างอิงถึงงาน The Great Wave off Kanagawa ของ Hokusai และรูปปั้นเมอร์ไลออน เพื่อนำเข้าสู่บริบทที่ใกล้ชิดเรื่องราวของเมืองในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศิลปินใช้เทคโนโลยีการสร้างภาพและการใช้ Machine Learning ในการสร้างฐานการพิมพ์ด้วยเลเซอร์ ก่อนจะตกแต่งด้วยสีน้ำมัน

พายุที่โหมกระหน่ำอันมีลวดลายจากคมไม้ เหมือนเส้นขีดเป็นสัญลักษณ์ของ "ฝนที่ตกอย่างหนัก" อันเป็นตัวแทนของความท้าทายที่ได้เผชิญ เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้สร้างจินตภาพจากภาพของพายุ การฟันฝ่า และการกระแทกของคลื่น ศิลปินเปรียบเทียบอุทกภัยเสมือนเป็นการชำระล้างความโลภของสังคมอันมากมายที่ข้ามผ่านหลายประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลาในการตั้งต้นใหม่เพื่อให้กลับมาสง่างามอีกครั้ง

Tan สำเร็จการศึกษาจาก Nanyang Academy of Fine Arts ประเทศสิงคโปร์ ผลงานของเขามุ่งเน้นไปที่ศิลปะสมัยใหม่ ปรัชญาหลังการระบาดใหญ่ และสุนทรียศาสตร์ระดับมหภาค ผลงานล่าสุดของเขามีความเกี่ยวพันอย่างมากกับการเชื่อมโยงของอุปกรณ์อัจฉริยะ (Internet of Things) สินทรัพย์ดิจิทัล (NFT) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเข้ารหัส (Cryptography) การฝึกปฏิบัติแบบผสมผสานเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสร้างสรรค์ ทำให้เขาเข้าใจมากขึ้นว่าศิลปะสามารถเป็นอะไรก็ได้ นอกจากนี้ Tan ยังได้รับรางวัลเหรียญทอง จากการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ประจำปี 2019 ประเภทศิลปินอาชีพ (ประเทศสิงคโปร์) และรางวัลเหรียญทองแดง จากการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ประจำปี 2018 ประเภทศิลปินใหม่หรือสมัครเล่น (ประเทศสิงคโปร์)

2021 UOB Painting of the Year ประเทศอินโดนีเซีย

Even After Death, the Departed Lives Life

Even After Death, the Departed Lives Life
Meliantha Muliawan

ผลงาน Even After Death, the Departed Lives Life เป็นแบบจำลองของซากปรักหักพังของเครื่องปั้นดินเผาสมัยราชวงศ์หมิงในศตวรรษที่ 15 ที่พบในทะเลชวา ผลงานถูกสร้างขึ้นโดยใช้วัสดุที่คล้ายกับกระดาษ ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานด้วยความหวังว่าจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์การย้ายถิ่นฐานของบรรพบุรุษของเธอ และเป็นความพยายามที่จะเข้าใจตัวตนและบทบาทของตนเองในฐานะชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีนผู้สืบทอดภาษาจีนในอินโดนีเซีย

ในฐานะที่เป็นเชื้อสายจีน-อินโดนีเซีย ศิลปินพบว่าในศตวรรษที่ 21 การปฏิบัติตามวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมจำนวนมากกำลังจางหายไป ประเพณีต่างๆ ของจีนถูกละทิ้งเมื่อพวกเขามีความเกี่ยวข้องน้อยลง และหนึ่งในนั้นคือการเผาเครื่องบูชากระดาษ อันเป็นประเพณีที่แสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยเผาข้าวของเครื่องใช้ สิ่งอำนวยความสะดวกที่พวกเขาเคยมีเมื่อยังมีชีวิตอยู่ สื่อถึงความเข้าใจว่าโลกแห่งชีวิตและความตายมีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่

Muliawan ฝึกฝนโดยสังเกตสิ่งของรอบตัวในสภาพแวดล้อมของเธอ เธอสนใจที่จะทำความเข้าใจหน้าที่และบทบาทของวัตถุเหล่านี้ในชีวิตประจำวันของผู้คนที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมของมนุษย์และสถานการณ์ทางสังคม เธอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิจิตรศิลป์จาก Bandung Institute of Technology ประเทศอินโดนีเซีย ในปี 2557 และเธอเคยเป็นหนึ่งในสามผู้เข้ารอบสุดท้ายสำหรับรางวัล Young Artist Award ที่ ART JOG 11 ในปี 2561 และเข้าร่วมในนิทรรศการอื่นๆ อีกมากมายในประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และออสเตรเลีย รวมถึงงาน 2019 Biennale Jogja Equator 5 และ 2018 Art Jakarta, ART JOG และ ART BALI

2021 UOB Painting of the Year ประเทศไทย

ดินแดนแห่งความสุข l (Land of Happiness)

ดินแดนแห่งความสุข
วชิระ ก้อนทอง

ดินแดนแห่งความสุข สื่อให้เห็นระบบนิเวศที่สมดุล มีสัตว์ป่าและพืชพรรณมากมายอยู่ร่วมกันในป่าทึบ รายละเอียดมากมายถ่ายทอดลักษณะที่พึงจะเป็นของผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ ดึงความสนใจมาสู่ความงามที่ซ่อนเร้นและความสุขอันอุดมในธรรมชาติ เราทุกคนควรที่จะเอาใจใส่ดูแลสิ่งเหล่านี้ เพื่อให้มั่นใจว่าคนรุ่นหลังจะมีโอกาสได้เพลิดเพลินไปกับธรรมชาติอันสวยงามเช่นนี้ต่อไป ผลงานใช้สีสันที่สดใสผสมผสานกับเทคนิคการตัดปะผ้าเพื่อถ่ายทอดข้อความเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ

วชิระเป็นทั้งศิลปินอิสระ อาจารย์ศิลปะ และรองผู้อำนวยการภาควิชาศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยวิจิตรศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ประเทศไทย เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท สาขาวิตรศิลป์ จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ประเทศไทย

เขามีผลงานจัดแสดงมากมายในระดับนานาชาติ รวมถึงนิทรรศการศิลปะแลกเปลี่ยนของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กับ University of Toyama School of Art and Design ในปี 2563 โครงการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนศิลปะและวัฒนธรรมในประเทศไทย นิทรรศการศิลปะร่วมสมัยเวียดนามและอินโดนีเซีย ในปี 2562 และนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยภายใต้ความสัมพันธ์ไทย-อินโดนีเซีย ในปี 2561 ทั้งนี้ในปี 2563 เขาได้รับรางวัล Thai Contemporary Artists Award 2020 จาก The Supreme Artists Hall (DCP) อีกด้วย

2021 Most Promising Artist of the Year ประเทศสิงคโปร์

Uncertainty of Photovoltaic Cell

Uncertainty of Photovoltaic Cell
Brian Ko

Uncertainty of Photovoltaic Cell เป็นภาพนามธรรมของแผงโซลาร์เซลล์สีดำที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม สื่อถึงความพยายามครั้งใหม่ของมวลมนุษยชาติ และความมุ่งมั่นต่อการสร้างความยั่งยืนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของความพยายามและความมุ่งมั่นดังกล่าวเช่นกัน

การบิดเบี้ยวของรูปร่างและเส้น แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดในความพยายามของมนุษยชาติในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ที่ซึ่งไม่มีวิธีแก้ปัญหาอันง่ายดายหรือสมบูรณ์แบบสำหรับภัยคุกคามที่มีอยู่ของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สีดำที่ปกคลุมไปทั่วเป็นสัญลักษณ์ของการไว้ทุกข์ ไม่เพียงแต่ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่บนโลกของเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอนาคตที่เลวร้ายอีกด้วย

Ko สำเร็จการศึกษาจาก School of the Arts ประเทศสิงคโปร์ ด้วยความถนัดทางด้านการละคร และทางด้านภาพยนตร์ในเวลาต่อมา เขาเชื่อมั่นในการแสดงออกของความคิดสร้างสรรค์ในทุกรูปแบบของงานศิลปะและความเป็นไปได้ของสหวิทยาการ ในปี 2564 เขาได้รับทุนจากการแข่งขัน Celebrating Our Healthcare Heroes National Youth Art Contest

2021 Most Promising Artist of the Year ประเทศอินโดนีเซีย

Leviathan (Giant)

Leviathan (Giant)
Chrisna Fernand

Leviathan (Giant) ได้รับแรงบันดาลใจจากการที่ศิลปินได้มีโอกาสร่วมรณรงค์ด้านพลังงานหมุนเวียนเมื่อสองปีก่อน เขาเชื่อว่าสิ่งสำคัญคือต้องสร้างความตระหนักรู้ในหัวข้อนี้สำหรับประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติอย่างประเทศอินโดนีเซีย โดยอินโดนีเซียจะไม่ขาดพลังงานแสงอาทิตย์ แต่การสำรองปริมาณถ่านหินจะถูกลดหมดไป ประเทศอื่นๆ มีความพยายามอย่างมากที่จะใช้พลังงานหมุนเวียน ในขณะที่อินโดนีเซียยังคงขุดถ่านหินที่เหลืออยู่อย่างต่อเนื่อง การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่กำลังดำเนินอยู่ได้ทำให้การสร้างโรงไฟฟ้าไอน้ำเพิ่มเติมล่าช้าออกไป ทำให้เกิดวิกฤตเพิ่มเติมนอกเหนือจากวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่

Fernand เป็นศิลปินสหสาขาวิชาชีพ การฝึกฝนด้านศิลปะของเขารวมถึงการวาดภาพ วาดการ์ตูน ศิลปะจัดวาง การออกแบบกราฟิก ศิลปะการแสดง วิดีโออาร์ต บทกวี นิตยสาร ดนตรี และกิจกรรมต่างๆ เขาจบการศึกษาจากคณะวิจิตรศิลป์จาก Indonesian Art Institute (ISI) ในเมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และเขาได้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่มมากมาย แพลตฟอร์มศิลปะ โปรแกรมศิลปะ เวิร์กช็อป และการจัดพิมพ์หนังสือในเมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

2021 Most Promising Artist of the Year ประเทศมาเลเซีย

Hi

Hi
Jaclyn The

Hi เป็นตัวแทนของบุคคลที่มีความวิตกกังวลทางสังคม พยายามซ่อนตัวจากปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในชีวิตประจำวัน ข้อความสำคัญของงานศิลปะนี้คือ "สวัสดี! ขออภัย! ลาก่อน!"

ข้อความ “ดึงเมื่อตกใจ” ได้รับแรงบันดาลใจจากข้อความ "ทำลายกระจกในกรณีฉุกเฉิน" ที่พบเห็นบนตู้ฉุกเฉินในอาคาร ศิลปินแสดงออกถึงความรู้สึกภายในของเธอที่ต้องการหลีกเลี่ยงบรรทัดฐานทางสังคม การดึงถุงเท้าไปคลุมถึงศีรษะของเธอเพื่อซ่อนตัว โดยหวังว่าความอึดอัดใจและความอับอายจะผ่านไป

Teh เป็นศิลปินด้านสื่อผสม เธอสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา สาขาวิจิตรศิลป์จาก Malaysian Institute of Art ประเทศมาเลเซียในปี 2562 เธอใช้แรงบันดาลใจจากสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเธอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัพเพเหระหรือเรื่องธรรมดาๆ และนำเสนอสิ่งเหล่านี้ด้วยอารมณ์ขัน

2021 Most Promising Artist of the Year ประเทศไทย

จุดยืน หมายเลข 2 l Standpoint No.2

จุดยืน หมายเลข 2
เจนจิรา คชวัตร

จุดยืน หมายเลข 2 สะท้อนชีวิตก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ที่ผู้คนสามารถไปได้ทุกที่โดยไม่ต้องสวมหน้ากากหรือรักษาระยะห่างทางสังคม การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันในทุกด้านของชีวิต นำมาซึ่งความตึงเครียดกับการหยุดกิจวัตรประจำวันอย่างที่เคย

ศิลปินใช้สติกเกอร์จุด อันเป็นสัญลักษณ์ของการคัดกรองโควิด-19 ที่มอบให้แก่ผู้คนที่ไม่มีไข้ เพื่อผ่านเข้าไปสู่สถานที่ต่างๆ ได้ ในการชมผลงาน ผู้ชมต้องเว้นระยะห่างออกมาจากตัวผลงานสักสองสามก้าว จึงจะเห็นภาพของผู้คนที่เดินขวั่กไขว่ เฉกเช่นเดียวกับที่ทุกคนต้องรักษาระยะห่างทางสังคม

เจนจิราเป็นนักเรียนศิลปะที่พัฒนาความหลงใหลในศิลปะมาตั้งแต่ยังเด็ก ในปี 2559 ตอนเธออยู่ชั้นมัธยม เธอได้รับรางวัล PTT Fine Arts Awards ครั้งที่ 31 ในหัวข้อ ‘ชีวิตพอเพียงเพื่อความยั่งยืนในประเทศไทย’ สิ่งนี้ทำให้เธอมีความมั่นใจที่จะมุ่งไปทางงานศิลปะ ปัจจุบันเธอกำลังศึกษาระดับปริญญาตรีปีสุดท้ายที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ประเทศไทย