ข่าวประขาสัมพันธ์ธนาคาร

งานปั้นจากโลกมืด ศิลปะมากคุณค่า ส่งต่อแรงบันดาลใจจากผู้พิการทางสายตา

ศิลปะการปั้นสำหรับคนทั่วไปนับว่ายากแล้ว การปั้นเพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะสำหรับผู้พิการทางสายตายิ่งเป็นสิ่งที่ยากกว่า เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถมองเห็นชิ้นงาน รายละเอียดต่างๆ รวมถึงรูปร่างของงานที่ออกมาว่าเป็นอย่างไร จึงทำให้การถ่ายทอดภาพในจินตนาการออกมาเป็นชิ้นงานไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่ภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดของความยากเหล่านั้น ธนาคารยูโอบี (ไทย) มองว่าศิลปะการปั้นสามารถสร้างสรรค์ให้ออกมาในมุมมองต่างๆ ได้ แม้จะมีความบกพร่องทางสายตา ก็สามารถเรียนรู้และปันชิ้นงานได้เหมือนคนทั่วไปผ่านการสัมผัส จึงได้เพิ่มทักษะการปั้นให้กับน้องๆ ผู้พิการทางสายตาผ่านโครงการ UOB Please Touch หรือ “โครงการกรุณาสัมผัส โดยธนาคารยูโอบี” ที่จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 แล้ว

สัญชัย อภิศักดิ์ศิริกุล กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ การเงินและสนับสนุนธุรกิจธนาคาร ธนาคารยูโอบี (ไทย) บอกว่า ทางธนาคารยูโอบีได้มีแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องของการสนับสนุนโครงการทางด้านศิลปะ การศึกษา และเยาวชน ในทุกประเทศที่ธนาคารดำเนินธุรกิจ ซึ่งในประเทศไทยได้ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่ดีอย่าง บริษัท กล่องดินสอ จำกัด หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะเพื่อผู้พิการทางสายตา เพื่อออกแบบหลักสูตรด้านทฤษฎีและกิจกรรมทางศิลปะแขนงต่างๆ ที่ผู้พิการทางสายตาสามารถนำไปต่อยอดได้

สัญชัย กล่าวว่าเวิร์กชอป “ศิลปะสัมผัสได้” ถือเป็นการเติมเต็มจินตนาการผ่านเทคนิคทางศิลปะที่ใช้การสัมผัสพื้นผิวหรือรูปทรงที่มีความแตกต่างด้วยมือให้กับผู้พิการทางสายตา ซึ่งจะได้เรียนรู้วิธีการในการสร้างสรรค์งานศิลปะ จนสามารถพัฒนาออกมาเป็นชิ้นงานศิลปะหรืองานฝีมือได้ โดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะเพื่อผู้พิการทางสายตา พร้อมด้วยอาสาสมัครพนักงานธนาคารยูโอบีที่เข้าร่วมเป็นพี่เลี้ยงให้กับกลุ่มผู้พิการทางสายตา ตลอดจนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้พิการทางสายตาในการสร้างงานศิลปะ

รศ. ทักษิณา พิพิธกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะเพื่อผู้พิการทางสายตา เป็นผู้ออกแบบหลักสูตรและเป็นวิทยากรหลักในการให้ความรู้ด้านทฤษฎีทางศิลปะที่สำคัญให้ข้อมูลว่า เราจะออกแบบกิจกรรมผ่านศิลปะแขนงต่างๆ ที่ผู้พิการทางสายตาสามารถนำไปต่อยอดได้ทั้งด้านทักษะศิลปะและด้านอาชีพ โดยในครั้งนี้มีทั้งหมด 5 ทักษะ ได้แก่ ศิลปะการทอผ้าด้วยกี่มือ ศิลปะการถักเชือกเมคราเม่ทำกระเป๋า ศิลปะการปักไหมพรม ศิลปะการปั้นดินทำเซรามิคและศิลปะการปั้นสบู่จากธรรมชาติ ซึ่งการปั้นเป็นศิลปะแขนงใหม่ที่นำมาให้ทุกคนได้ฝึกและเรียนรู้เป็นครั้งแรก 

รศ. ทักษิณา อธิบายถึงศิลปะการปั้นดินที่เพิ่มเข้ามาในกิจกรรมเวิร์กชอปในปีนี้ว่า “ผู้พิการทางสายตาจะเปิดจินตนาการและรับรู้ความสวยงามได้จากการสัมผัส ครั้งนี้เราจึงลองนำงานปั้นเข้ามาเพื่อให้ได้สัมผัสพื้นผิวที่เยอะขึ้น เขาจะได้รู้สึกและเห็นภาพผลงานของตัวเองได้ผ่านการสัมผัสรูปทรงตรงหน้า โดยการปั้นดินไม่ได้ปั้นเป็นวัตถุใช้สอย แต่เราให้น้องๆ ปั้นใบหน้าของพี่ๆ จิตอาสา เพื่อให้เขามีกระบวนการทำงานเชื่อมโยงกัน โดยมีการสัมผัสว่า ตา จมูก ปาก หู อยู่ตำแหน่งไหน รูปลักษณ์เป็นอย่างไร แล้วน้องๆ ก็จะปั้นตามจินตนาการที่ได้สัมผัส โดยมีพี่ๆ จิตอาสาคอยช่วยเหลือและแนะนำตำแหน่งของอวัยวะต่างๆ บนใบหน้า  ซึ่งในกระบวนการทำงานร่วมกันนั้นเต็มไปด้วยความอบอุ่นและรอยยิ้มระหว่างพี่อาสาและผู้พิการทางสายตา

น้องนุช ผู้พิการทางสายตา จากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพที่เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์กชอบในครั้งนี้เล่าว่า “เข้าร่วมกิจรรมเวิร์กชอปศิลปะสัมผัสได้กับธนาคารยูโอบีทุกปี ได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ เกี่ยวกับงานศิลปะมากมาย จนตอนนี้สามารถถักผ้าทอผ้าได้อย่างคล่องแคล่ว และสนุกทุกครั้งที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม รู้สึกว่าตนเองสามารถพัฒนาฝีมือและทักษะศิลปะในด้านต่างๆ มีความกล้า และสามารถคิดสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างอิสระ และถ้ามีโอกาสก็จะเข้าร่วมเพื่อพัฒนาฝึกฝนเรียนรู้ทักษะอื่นๆ เพิ่มเติม เพราะศิลปะทำให้จิตใจสงบ มีสมาธิ และยังได้วิชาเพื่อนำไปต่อยอดด้วย”

ด้านน้องติน ฉัตริน สินธุสาร เดินทางมาจากอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เล่าถึงกิจกรรมเวิร์กชอปการปั้นดินให้ฟังว่า “ตอนเป็นเด็กๆ ข้างบ้านเป็นร้านขายกระถาง ตุ๊กตา และเครื่องปั้นดินเผา ตนก็จะไปนั่งดูเขาปั้นบ่อยๆ และมีโอกาสได้ปั้น จนชอบงานปั้น พอเริ่มมีปัญหาในการมองเห็นทำให้ไม่สามารถปั้นต่อได้ แต่ก็ยังชื่นชอบการปั้นอยู่ พอมีกิจกรรมเวิร์กชอปศิลปะสัมผัสได้ของธนาคารยูโอบีก็มาเข้าร่วม และดีใจที่มีการสอนปั้น ทำให้จุดประกายเรื่องการปั้นขึ้นมาอีกครั้ง”

“วันนี้พี่ๆ เขาสอนให้ปั้นดินเป็นหน้าของพี่ๆ จิตอาสา ผมก็จินตนาการเอาว่าพี่จิตอาสาจะต้องหน้าตาเป็นอย่างไร หลังจากนั้นผมก็ปั้นไปตามจินตนาการที่ผมคิดไว้ ผลงานที่ออกมาก็คือรูปปั้นใบหน้าของผู้หญิง การปั้นครั้งนี้สนุกมาก พี่ๆ จิตอาสาของธนาคารยูโอบีให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี คอยบอกว่าตรงไหนหู ตรงไหนตา ปาก จมูก แม้ผมจะมองไม่เห็นผลงานของตัวเอง แต่ผมเชื่อว่าจะเป็นผลงานการปั้นที่สวยงามของผมครับ”

ส่วนน้องมินท์ เมธาวี ขุนพลเอี่ยม เดินทางมาจากบางปะกอก กรุงเทพฯ เล่าว่า ก่อนจะเริ่มปั้น พี่ๆ ก็ได้สอนเกี่ยวกับทฤษฎีศิลปะการปั้นว่าการปั้นคืออะไร การปั้นเกิดจากยุคสมัยไหน ทำให้ได้ความรู้เพิ่มเติมจากที่ไม่เคยรู้มาก่อน สนุกดี เหมือนได้ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ หลังจากเรียนรู้ทฤษฎีเสร็จแล้วก็ได้ลงมือปฏิบัติจริง วันนี้ได้ปั้นเป็นรูปใบหน้าของชายหนุ่มที่จินตนาการขึ้นมา โดยมีพี่ๆ จิตอาสาจากธนาคารยูโอบีคอยให้คำแนะนำและช่วยชี้แนะ ทำให้การปั้นในวันนี้สนุกและเป็นกันเองมาก ตอนแรกคิดว่าเราจะปั้นได้เหรอ มันยากนะ เรามองไม่เห็นจะสามารถปั้นได้อย่างไร แต่เมื่อพี่ๆ วิทยากรให้คำแนะนำในการปั้น หลักการต่างๆ ก็ทำให้สามารถปั้นเป็นชิ้นงานได้อย่างง่ายดาย ซึ่งในแง่ของศิลปะแล้ว ออกมาสวยหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของคนดู

แม้สิ่งที่อาจมองว่ายาก แต่ถ้าได้เรียนรู้ ฝึกฝน และเพิ่มทักษะลงไปทุกอย่างก็สามารถเป็นไปได้ ธนาคารยูโอบียังคงมุ่งมั่นที่จะเปิดโอกาสให้ผู้พิการทางสายตามีโอกาสเข้าถึงงานศิลปะ ทั้งในฐานะผู้สร้างสรรค์เพื่อถ่ายทอดจินตนาการ และโอกาสในการสัมผัสความงามของผลงานผู้อื่น ธนาคารยูโอบีเชื่อว่าจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในวันนี้จะสามารถจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเขา ให้สามารถต่อยอดได้ทั้งทางด้านศิลปะและอาชีพได้ต่อไป

วันที่ 5 มีนาคม 2563
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
สายงานบริหารสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร
ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)
นิดา ภู่วนิชย์ โทร . 0-2343-4963