ข่าวประชาสัมพันธ์ธนาคาร

เปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจยั่งยืนแบบ Smart SMEs

 

ทุกวันนี้ เรื่องของ “ความยั่งยืน” (Sustainability)ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่องค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น แต่เป็นความจำเป็นของทุกธุรกิจที่ต้องปรับตัวสู่ความยั่งยืน รวมทั้งธุรกิจขนาดเล็ก หรือ SMEs  และการปรับธุรกิจสู่ดิจิทัล เป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยปรับองค์กรให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะวันที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากธุรกิจใดไม่ปรับตัว หรือมัวแต่ทำธุรกิจแบบเดิมๆ  เท่ากับว่าธุรกิจนั้นย่ำอยู่กับที่และอาจประสบปัญหาในอนาคตได้

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) ชวนประชาชาติธุรกิจ คุยกับสมาชิกซึ่งเป็นสถาบันการเงินชั้นนำอย่าง ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ที่ได้บ่มเพาะ SMEs ให้ปรับธุรกิจสู่ดิจิทัลและความยั่งยืน ผ่านโครงการ “Smart Business Transformation” (SBTP)  ที่ดำเนินการโดย UOB FinLab หน่วยงานบ่มเพาะนวัตกรรมภายใต้กลุ่มธนาคารยูโอบี ซึ่งได้ช่วยเปิดโลกธุรกิจยั่งยืนให้กับ SMEs กว่า 4,000 ราย

หนุน SMEs ด้วยเทคโนโลยีและแนวคิด  “ยั่งยืน”

“บัลลังก์ ว่องธวัชชัย” Head of Digital Engagement and FinTech Innovation ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่าจุดเริ่มต้นของโครงการ คือ ความร่วมมือเพื่อทำให้เกิด Ecosystem Builder กับบริษัทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น SMEs หรือ Start up รวมถึงบริษัทใหญ่ทั้งหลาย ให้สามารถอยู่ได้ ในสภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

 

“แม้เรื่องนี้จะทำกันมาเยอะแล้ว แต่มีหลายบริษัทหยุดไป สำหรับ UOB FinLab เราทำมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ ยูโอบี ได้เน้นในเรื่องความยั่งยืนและมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาช่วยซัพพอร์ต ด้วยความเป็น regional bank ที่สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายต่างประเทศ ทั้งผู้เชี่ยวชาญ แหล่งเงินทุน และตลาด   ทั้งยังเป็นตัวกลางที่รู้ว่ามีเทคโนโลยีอะไรบ้างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็ทำงานกับ SMEs มากว่า 80 ปี  ยูโอบีจึงสร้างเป็นโครงการ Smart Business Transformation (SBTP) เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงแบบ Transform ให้ธุรกิจ SMEs เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงและเติบโตต่อไปได้.”

“ถ้าดูตัวเลขจาก 9 ใน 10 ของธุรกิจ สนใจนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้ แต่ว่าไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ได้จริง ผมคิดว่าประมาณ 50% เท่านั้นที่นำเทคโนโลยีมาใช้ได้ ดังนั้น สิ่งที่ UOB FinLab ทำ คือริเริ่มโครงการที่ให้ความรู้เพื่อช่วย SMEs ทรานฟอร์มธุรกิจไปสู่ธุรกิจดิจิทัลและยั่งยืน โดยเชื่อมโยง SMEs เข้ากับดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อให้ SMEs สามารถนำดิจิทัลเทคโนโลยีไปใช้ในธุรกิจ โดยเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2562 เรามีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 4,000 บริษัท หนึ่งในนั้นมีบริษัท เคเอ็มพี พาร์เนอร์ จำกัด ด้วย”

 

Smart SMEs คนเล็กฝันใหญ่ และไปให้ถึง
“ปิติพัฒน์ มงคลอริยนันท์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคเอ็มพี พาร์ทเนอร์ จำกัด ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเพื่อร้านรับเหมาก่อสร้างแบบครบวงจร เล่าให้ฟังว่า เคเอ็มพี เป็นธุรกิจเล็กๆในอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ที่อยากจะฝันใหญ่ แต่ด้วยภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศห่างไกล จึงทำให้ได้รับโอกาสทางความรู้น้อยมาก ดังนั้น การที่ได้เข้าร่วมโครงการ Smart Business Transformation (SBTP) จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าตื่นเต้นมาก

 

“เมื่อเจอวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจเล็กๆอย่างเรา ก็ได้ผลกระทบ ราคาของคู่แข่งรายใหญ่ ถูกกว่าต้นทุนของเราที่รับซื้อ ธุรกิจของเราโดนผลกระทบเต็มๆ พูดง่ายๆ คือกำลังซื้อของเราสู้บริษัทใหญ่ไม่ได้ ตอนที่ผมเจอปัญหานี้ เป็นช่วงเวลาที่เราเดินมาเจอกับยูโอบี และ UOB FinLab พอดี”

เมื่อได้โอกาสเข้าร่วมโครงการ Smart Business Transformation (SBTP) ทำให้เคเอ็มพี ภายใต้การนำของ“ปิติพัฒน์” ได้เรียนรู้ใน 3 เรื่องหลักๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพลิกโฉมธุรกิจ SMEs สู่ความยั่งยืน

ใช้แพล็ตฟอร์มออนไลน์เป็น เห็นโอกาสต่อยอด
เรื่องแรก Digitization ตอนนั้นเขาเชื่อว่า  ตัวเองสามารถทำเรื่องดิจิทัลได้ แต่ปัญหาคือจะ Connect อย่างไร เพราะมีกำลังซื้อแค่คนเดียว จึงสู้รายใหญ่ไม่ได้  ตอนนั้นเกิดไอเดียว่า “รวมรายเล็กรวมกันซื้อ” แต่ก็เกิดคำถามตามมาอีกว่า แล้วจะรวมอย่างไร ที่สุดจึงนำเทคโนโลยีมาช่วย  โดย  UOB FinLab แนะนำผู้เชี่ยวชาญช่วยแนะนำการใช้ไลน์ แพล็ตฟอร์ม ซึ่งเป็นช่องทางสื่อสารที่ตัวเขาและเครือข่ายคุ้นเคยกันอยู่แล้ว และต่อยอดไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ

“ผมเล่าให้เห็นภาพง่ายๆ สมมติเมื่อก่อนเราจะซื้อรถยนต์ 1 คัน เราจะซื้อด้วยราคาที่คิดว่าดีที่สุด แต่เดี๋ยวนี้พอผมจะซื้อรถยนต์ 1 คัน ผมจะถามหาคันที่ 2 3 4 รอบๆประเทศไทย เหมือนกับที่ผมถามเพื่อนในไลน์ที่กาฬสินธุ์ว่าซื้อด้วยกันไหม ถ้าซื้อด้วยกัน กำลังซื้อเรา 1 คันก็จริง แต่เวลาเราต่อรองราคา เราอาจต่อรองเป็น 50 คัน ตรงนี้ทำให้กำลังซื้อเราเปลี่ยน”

 

“ถ้าจะมองภาพให้ไกลกว่านี้ ผมเชื่อว่า Ecosystem จะขับเคลื่อน Infrastructure ยิ่งในต่างจังหวัดด้วยแล้ว เวลาพัฒนาบ้านเมืองจะต้องลงทุนในเรื่องก่อสร้างเป็นหลัก ดังนั้น จากที่เคยทำธุรกิจแบบเดิมๆ แต่ตอนนี้ผมผันตัวเองมาพัฒนาเป็น ดิจิทัลแพลตฟอร์ม เต็มตัว จนทำให้ไม่มีสต๊อกค้างแล้ว เพราะต่างจังหวัดสมัยก่อนเวลาลูกค้ามาซื้อสินค้าเราต้องมีของให้เขา คือขายแบบ B2C แต่สิ่งที่ผมได้มาจาก UOB FinLab เป็น B2B  คือ Connect กับกลุ่มธุรกิจที่เป็น SMEs ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมา ร้านวัสดุก่อสร้าง เวลาซื้อเราจอยซื้อสินค้าด้วยกัน ทำให้ลดต้นทุนลงได้ ราคาแข่งขันได้ และได้เครือข่ายแบบ Community จากจังหวัดอื่นๆ ที่เพิ่มมากขึ้น”

 วันนี้ “เคเอ็มพี” สามารถรวมกลุ่มของผู้ซื้อด้วยกัน หรือที่เรียกว่า Community Group Buying ใช้ชื่อว่า BUYBIGLOT – https://buybiglot.com  ที่ผู้ใช้งานมากกว่า 2,000 ราย เกิดเป็นโมเดลธุรกิจที่สามารถต่อยอดได้อีกมาก

ยั่งยืนแบบ Win-Win ดีต่อธุรกิจ ดีต่อสังคม ดีต่อสิ่งแวดล้อม
เรื่องที่สอง Sustainability  ปิติพัฒน์ เล่าว่า  UOB FinLab เชิญ UN มาสอนเรื่องความยั่งยืน และให้ความรู้เรื่อง SDGs ด้วย ทำให้ได้แนวคิดว่าการทำธุรกิจยั่งยืน ต้องยั่งยืนกับทุกฝ่ายที่เรียกว่า win-win  ทั้งธุรกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม  ขณะเดียวกัน ตอนที่เริ่มทำ BUYBIGLOT เจอปัญหาลูกค้า สั่งของไม่มาก พอดีกับที่ Connect กับลูกค้าที่อยู่ภาคใต้กับอีสานได้  จึงได้ไอเดียรวมเที่ยว หรือ Sharing Economy คือแชร์รถขนส่งไปด้วยกัน  ทำให้ต้นทุนการขนส่งดีขึ้น และตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย

“ต้องเรียนว่าลูกค้าต่างจังหวัด ไม่ได้เริ่มต้นด้วยความสนใจว่าจะลดคาร์บอน หรือลดโลกร้อนอย่างไร เขาเริ่มจากมองว่าจะสู้กับรายใหญ่ได้อย่างไร จะลดต้นทุนได้อย่างไร แต่ในความเป็นจริงแล้วการรวมกันซื้อแบบ sharing economy นอกจากจะช่วย save cost ให้ได้จริงๆ แล้ว ยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากการขนส่งด้วย จนผมมองว่าเรื่องนี้สามารถตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนได้ด้วย” ปิติพัฒน์ กล่าว

เปลี่ยนวิธีคิด ปรับวิธีทำงาน งานได้ผล คนเป็นสุข 
เรื่องที่ 3 Employee Wellness ช่วงโควิด-19 หลายบริษัท Work From Home แต่เคเอ็มพี ทำแบบนั้นไม่ได้ คำถามคือทำไมทำไม่ได้  คำตอบที่ปิติพัฒน์ตอบตัวเอง คือกลัวว่าลูกทีมไม่ทำงาน เพราะคนต่างจังหวัดมักคิดว่าการทำงานที่ดี ควรต้องมาทำงานที่บริษัท และด้วยความที่เป็น SMEs ไม่ได้เป็นองค์กรขนาดใหญ่ ยิ่งไม่เห็นภาพว่าการทำงานออนไลน์จะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร

แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการ Smart Business Transformation (SBTP)   จึงได้ไอเดีย ใช้เทคโนโลยีเข้ามาปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ด้วยการนำ Enterprise Resource Planning (ERP) หรือการวางแผนทรัพยากรตัวใหม่เข้ามาไม่เพียงเป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยวางแผนทรัพยากรขององค์กร แต่ยังช่วยระบบบัญชี  จัดซื้อ การจัดการโครงการ การจัดการลูกค้าสัมพันธ์ การจัดการความเสี่ยง การปฏิบัติตามกฎระเบียบ และการดำเนินงานซัพพลายเชน

“เมื่อก่อนเราใช้โปรแกรมทั่วไป ตั้งแต่อบรมกับ UOB FinLab ผมได้ลงทุนนำระบบ ERP เข้ามาใช้ในบริษัท เพราะวัด performance ได้ว่า หนึ่งวันพนักงานแต่ละคนทำงานเป็นอย่างไร ทำให้พนักงานสามารถ work from anywhere ทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็สามารถดูแลลูกค้าเดิม และหาลูกค้าใหม่ได้ด้วย ทุกวันนี้เราวัดกันที่ผลงาน และความสำเร็จของงาน เพราะมีระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วย สิ่งเหล่านี้ คือนโยบายใหม่ที่ผมตั้งใจทำ.”

ก้าวย่างอย่างมั่นคง ต่อยอดธุรกิจยั่งยืน
ปิติพัฒน์ยังได้ความรู้เรื่อง Business Intelligence (BI) คือการเก็บข้อมูลมาประมวลผลให้เห็นภาพ คือเอาข้อมูลที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น คำนวณต้นทุน ดูสถานการณ์ธุรกิจแบบเรียลไทม์ ใช้ประกอบการตัดสินใจในเรื่องสำคัญ หรือวางแผนทิศทางในอนาคต และเป็นบริษัทแรกๆ ที่ใช้ประโยชน์จาก Big Data ได้ชัดเจน จนล่าสุดได้รับเชิญจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ไปเป็นตัวอย่างกับบริษัทอื่นๆ 

“วิธีการ คือ เรามีคนที่ใช้แพลตฟอร์มอยู่ 2,000 ราย เรารู้หมดว่าเขา Interactive หรือ Connect กับแพลตฟอร์มเรายังไงบ้าง จนรู้ได้เลยว่าลูกค้าที่จะเป็นเป้าหมายของเราในอนาคต ตอนนี้มีความสนใจเรามากน้อยแค่ไหน เหมือนกับธุรกิจขนาดใหญ่เขาใช้กัน ปกติเทคโนโลยีนี้ต้องใช้เงินพัฒนาค่อนข้างเยอะ แต่เราเป็น SMEs เราก็สามารถนำหลักการ BI มาปรับใช้ได้ เพราะตอนที่ได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญจาก UOB FinLabได้ผลมาก ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น และช่วยให้ Connect ได้ดีขึ้น.”

เมื่อถามถึงผลที่ได้รับ “ปิติพัฒน์” บอกว่า ปัจจุบันมีรายได้เติบโตขึ้น 3-4 เท่า จากยอดขายที่เพิ่มขึ้น  และได้ขยายแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มเติม ใช้ชื่อว่าการประมูล KanPramool.com เป็นที่รวมประกาศจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ  (E-bidding) ครอบคลุมทุกหน่วยงาน ทุกจังหวัด สำหรับผู้รับเหมาก่อสร้างภาครัฐ  จากเดิมที่ธุรกิจหลักอยู่ภาคใต้ ในอนาคตจะขยายและนำโมเดล BUYBIGLOT กระจายไปทั่วประเทศ โดยจะเริ่มที่ภาคอีสานเป็นภูมิภาคแรก ต่อด้วยภาคเหนือ เริ่มแรกกลุ่มเป้าหมายจะเป็นร้านวัสดุก่อสร้าง และผู้รับเหมาก่อน หลังจากนั้น จะขยายไปยัง Ecosystem ที่เกี่ยวข้องกับร้านวัสดุก่อสร้าง หรือผู้รับเหมา เช่น โชว์รูมรถบรรทุก  โดยเชื่อมั่นว่า ภายใต้การนำของเขา “เคเอ็มพี” จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากแนวคิด ความรู้ และประสบการณ์ที่ได้รับ ทั้งเรื่องความยั่งยืน เทคโนโลยีดิจิทัล และการบริหารจัดการองค์กรและบุคลากร

เดินหน้าหนุน Smart SMEs  ชู “ความยั่งยืน” 
สุดท้าย “บัลลังก์”  กล่าวว่า การสนับสนุน SMEs ให้เดินหน้าสู่ความยั่งยืนยังคงทำอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 จะเน้นเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ด้วยโครงการที่จะให้ความรู้ในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนกับ SMEs ที่ชื่อว่า Sustainability Innovation Programme (SIP)  รวมถึงจะคัดสรร Greentech หรือเทคโซลูชั่นที่จะมาช่วยในการจัดสรรทรัพยากรอย่างถูกต้องมากขึ้น เพื่อทำให้ต้นทุนของ SMEs ลดลง โดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด  ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นทำให้โลกดีขึ้น และทำให้การทำงาน สภาพแวดล้อม และสังคมยั่งยืนขึ้นด้วย   เช่น เทคโนโลยีที่ช่วยให้การทำการเกษตรใช้น้ำได้น้อยที่สุด ลดการใช้ไฟฟ้า ใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทน และช่วยให้เกิดผลผลิตมากที่สุด

“ความยั่งยืน หรือSustainability เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน เราในฐานะสถาบันการเงิน จะพยายามผลักดันให้ธุรกิจที่อยู่กับเราอยู่ได้ และก้าวหน้าไปด้วยกันในอนาคต Win-Win ไปด้วยกัน ทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม”  ผู้บริหารยูโอบี กล่าวทิ้งท้าย

วันที่ 19 ธันวาคม 2566
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
สายงานบริหารสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร
ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)
นิดา ภู่วนิชย์
โทร . 0-2343-4963