ยูโอบี และ เดอะ ฟินแล็บ เปิดตัว 15 SMEs ไทยที่จะพลิกโฉมสู่ดิจิทัลเต็มตัว

ไปกับโครงการ Smart Business Transformation

  •  
  •  
  •  

ธนาคารยูโอบี (ไทย) เปิดตัว ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) 15 บริษัทที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วม โครงการ Smart Business Transformation เพื่อสนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถของเอสเอ็มอีด้านดิจิทัลครั้งแรกในประเทศไทย โดยโครงการนี้ ดำเนินงานโดย เดอะ ฟินแล็บ และยังได้รับความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตรได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

หลังจากเปิดตัวโครงการในเดือนมีนาคม มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 150 บริษัทในเขตกรุงเทพ ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ โดยมี 15 บริษัทผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการครอบคลุมในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจค้าปลีก อุตสาหกรรมท่องเที่ยว การขนส่งและอุตสาหกรรมการผลิต สำหรับเกณฑ์คัดเลือกพิจารณาจากการตระหนักถึงข้อจำกัดและความท้าทายของธุรกิจในปัจจุบันที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง มีมุมมองที่เปิดกว้างต่อการทำธุรกิจแบบใหม่และการใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและยกระดับทางธุรกิจ

ธนาคารยูโอบี (ไทย) และ เดอะ ฟินแล็บ ตั้งเป้าว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการ Smart Business Transformation จะสามารถนำโซลูชันดิจิทัลต่างๆไปใช้งานเพื่อส่งเสริมการทำการตลาดออนไลน์และปรับปรุงขั้นตอนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงลูกค้าในประเทศไทยได้มากยิ่งขึ้นและขยายธุรกิจไปสู่ตลาดใหม่ได้

  •  
  •  

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้ง 15 บริษัทจะได้เข้าร่วมเวิร์ค ช็อปในหลายหัวข้อ โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่จะมาแนะนำการใช้งานเครื่องมือดิจิทัลต่างๆ ให้ความรู้และแนวทางการทำงานในการปรับตัวและสร้างความเชื่อมั่นในการใช้นวัตกรรมใหม่ให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง ซึ่งเวิร์คช็อปจะจัดขึ้นในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2562 หลังจากนั้น จะมีการจับคู่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกับผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีไปทดลองแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการได้รับคิดเป็นมูลค่า 1,000,000 บาท ซึ่งประกอบด้วยการเข้าร่วมเวิร์คช็อป การฝึกอบรม คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ในอุตสาหกรรม รวมทั้งการสื่อสารประชาสัมพันธ์โครงการให้เป็นที่รู้จัก

นาย ตัน ชุน ฮิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี (ไทย) กล่าวว่า “ด้วยประสบการณ์มากกว่า 8 ทศวรรษของธนาคารในการสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี ทำให้เรามีความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งถึงโอกาสและความท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เราตระหนักดีว่า เอสเอ็มอีจำนวนมากมีความกังวลในเรื่องความชำนาญและความซับซ้อนในการใช้ดิจิทัลโซลูชันต่างๆ เพราะการปรับองค์กรสู่ดิจิทัลเต็มตัวมีบทบาทสำคัญในทุกธุรกิจ เราจึงมุ่งที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีไทยสามารถก้าวข้ามอุปสรรคและนำเทคโนโลยีไปใช้เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น”

“โครงการ Smart Business Transformation จะช่วยติดอาวุธและทักษะดิจิทัลที่สำคัญให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อให้ธุรกิจของพวกเขาสามารถเติบโตได้ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ ด้วยเครือข่ายที่มั่นคงและครอบคลุมทั่วภูมิภาคของกลุ่มธนาคารยูโอบี เราจะช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถขยายธุรกิจไปยังตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคนี้อีกด้วย”

นาย เฟลิกซ์ ตัน หัวหน้ากลุ่มงานร่วม เดอะ ฟินแล็บ กล่าวว่า “เดอะ ฟินแล็บประสบความสำเร็จในการทำโครงการบ่มเพาะด้านนวัตกรรมให้แก่ผู้ประกอบการสิงคโปร์มาแล้วหลายรุ่น เป็นอีกครั้งที่เรารู้สึกตื่นเต้นอย่างมากที่จะได้นำประสบการณ์และความชำนาญมาช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทยสามารถปรับองค์กรสู่ดิจิทัลอย่างเต็มตัว เพราะภาคธุรกิจเอสเอ็มอีนับเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ ผมได้มีโอกาสได้คุยกับเจ้าของธุรกิจหลายๆท่านในช่วงพิจารณาเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการ ได้รับรู้ถึงความมุ่งมั่นและแรงบันดาลใจของพวกเขาในการปรับองค์กรเพื่อให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น เดอะ ฟินเล็บ จึงรู้สึกเป็นเกียรติมากที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางไปสู่ดิจิทัลอย่างเต็มตัวของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้ง 15 บริษัท โดยจะมุ่งมั่นช่วยให้พวกเขาเดินไปสู่ความสำเร็จอย่างที่พวกเขาตั้งใจไว้”

นายวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด เจ้าของลิขสิทธิ์เสื้อฟุตบอลทีมชาติไทย หนึ่งในผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ โดย กล่าวว่า “ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเสื้อผ้าอุปกรณ์กีฬา เรามุ่งหวังให้วอริกซ์เป็นแบรนด์ชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราต้องการนำเทคโนโลยีและโซลูชันต่างๆมาใช้งาน ซึ่งรวมถึง Loyalty Programme เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ ระบบการบริหารจัดการรายการสินค้า และระบบการชำระเงิน เพื่อขับเคลื่อนการทำธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและยอดขายที่เติบโตขึ้น การได้เข้าร่วมโครงการ Smart Business Transformation ภายใต้ความร่วมมือกับ เดอะ ฟินแล็บ จะช่วยให้เราเดินไปถึงจุดหมายบนเส้นทางที่เราวางแผนไว้ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ”

โครงการ Smart Business Transformation เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2562 โดยจะสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม 2562

รายชื่อและข้อมูลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 15 บริษัท

ชื่อ
ภาคธุรกิจ
คำอธิบาย
เอ ลิทเทิล ลัลลาบาย (ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กภายใต้แบรนด์ ‘Nappi’)
ค้าปลีก ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก Nappiใช้วัสดุใยไผ่ด้วยวิธีการเก็บเกี่ยวแบบยั่งยืน เพื่อการนำเสนอผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กจากใยไผ่แบบครบวงจร ปัจจุบันวางจำหน่ายใน 6 ประเทศ บริษัทมีเป้าหมายในการสร้างความเติบโตของแบรนด์และนำเสนอคุณสมบัติด้านการดูดซับที่ดีเยี่ยมของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ผ่านการตลาดออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมการทำงานระบบจัดการเว็บไซต์ในช่วงการขยายธุรกิจ
ออลเวย์ เวเคชั่น
การเดินทางและการท่องเที่ยว ออลเวย์ เวเคชั่น ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ 2554 เป็นบริษัทนำเที่ยวที่บริการวางแผนการเดินทางทั้งสำหรับองค์กรและบุคคลไปสู่จุดหมายทั่วโลก มีความเชี่ยวชาญในการสร้างเส้นทางการเดินทางตามความต้องการของลูกค้า เพื่อให้เหมาะสมกับรสนิยมและงบประมาณของนักเดินทาง บริษัทตั้งเป้าหมายในการยกระดับประสบการณ์โดยรวมของลูกค้า ผ่านการนำเสนอทางเลือกบริการจองแพ็คเกจด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ และเพิ่มข้อเสนอในการเดินทางอย่างต่อเนื่อง
อาร์ทตี้กรุ๊ปส์ (อาร์ทตี้ แบรนด์)
ค้าปลีก อาร์ทตี้กรุ๊ปส์ ออกแบบและผลิตเครื่องประดับแฟชั่นเกรดพรีเมียมจากวัสดุหนังคุณภาพสูง บริษัทต้องการเป็นผู้นำในการตลาดระบบดิจิทัล และเสริมประสิทธิภาพขั้นตอนการขายและระบบการบริหารรายการสินค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรและสร้างรายรับให้สูงสุด
อีซี่ แพ็ค
อุตสาหกรรมการผลิต อีซี่ แพ็ค ออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์เกรดอาหารและยาที่มีความยืดหยุ่นตามความต้องการของลูกค้าสำหรับอุตสาหกรรมทุกประเภท บริษัทวางแผนที่จะสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์และการตลาดดิจิทัลที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มยอดขายและขยายธุรกิจสู่ประเทศต่าง ๆ
อีธอส กรุ๊ป
อุตสาหกรรมการผลิต อีธอส กรุ๊ป ประกอบด้วยบริษัทจดทะเบียน 3 แห่ง และหน่วยงานธุรกิจ 5 แห่ง ซึ่งทำหน้าที่กระจายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์ เคมีภัณฑ์ และสารหล่อลื่นให้แก่บริษัทอุตสาหกรรมซึ่งถือเป็นธุรกิจหลักของเครือบริษัท เป้าหมายด้านการเติบโตของบริษัทเน้นในด้านการยกระดับองค์ความรู้ในสาขาเหล่านี้ และประสานการทำงานด้านการวิจัยและพัฒนาไปสู่การออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในเขตเมือง
แกรนด์ฟูดโปรเซสซิ่ง
อาหารและเครื่องดื่ม แกรนด์ฟูดโปรเซสซิ่ง ผลิตน้ำผลไม้สดจากผลไม้เขตร้อน อาทิ มังคุดและมัลเบอร์รี่ ปัจจุบัน วางจำหน่ายในตลาด 12 แห่ง รวมถึงสหรัฐฯ สิงคโปร์ และรัสเซีย ฝ่ายบริหารมุ่งหวังในการใช้ดิจิทัลโซลูชันเพื่อเพิ่มการรับรู้ต่อแบรนด์และผลิตภัณฑ์ของบริษัทบนสื่อโซเชียลมีเดียและแพล็ตฟอร์มอื่นๆ และเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อขยายฐานลูกค้า
ฮาโล อินโนเวชั่น
อุตสาหกรรม ฮาโล อินโนเวชั่น ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ 2553 เป็นบริษัทอุตสาหกรรมที่เชี่ยวชาญการผลิตสารประกอบพีวีซีสำหรับผลิตภัณฑ์ อาทิ สายไฟและสายยาง บริษัทต้องการปรับปรุงระบบการบริหารคลังสินค้าและรายการสินค้าแบบเรียลไทม์ และเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบเพื่อการคิดค้นสูตรพลาสติกให้เป็นระบบดิจิทัล
คิงด้อม ออร์แกนิค เนทเวิร์ค
อาหารและเครื่องดื่ม / การเกษตร คิงด้อม ออร์แกนิค เนทเวิร์ค คือผู้จัดจำหน่ายอาหารออร์แกนิกและผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบรนด์ของตนเองสำหรับผู้บริโภค นอกจากการยืดอายุสินค้าบนชั้นวาง คิงด้อม ออร์แกนิค เนทเวิร์ค ยังต้องการพัฒนาระบบรวมศูนย์สำหรับเครือข่ายเกษตรกรออร์แกนิก เพื่อการป้อนข้อมูลและบริหารขั้นตอนในตารางการผลิต เพื่อให้เกิดการวางแผนการขนส่งที่ดียิ่งขึ้น
เอ็มซีซี 4x4
ยานยนต์ บริษัทยานยนต์ที่เชี่ยวชาญด้านการผลิตอุปกรณ์ประดับยนต์สำหรับรถยนต์ออฟโร้ดขับเคลื่อน 4 ล้อ โดย เอ็มซีซี 4x4 ส่งออกสินค้าไปยังออสเตรเลีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ บริษัทวางแผนใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ และรวบรวมองค์ความรู้ทางธุรกิจตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างความยั่งยืนในการดำเนินงาน
เอ็มเอสเอส สไตล์ลิสส์
ค้าปลีก เอ็มเอสเอส สไตล์ลิสส์ คือผู้ค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นทางออนไลน์โดยเน้นที่กลุ่มผู้บริโภคผู้หญิง แม้จะมีการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์หลายรูปแบบในปัจจุบันเพื่อการเข้าถึงผู้บริโภค บริษัทยังตั้งเป้าหมายในการเสริมสร้างและยกระดับการบริหารฝ่ายขายและรายการสินค้าบนทุกแพล็ตฟอร์ม เพื่อให้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อผู้บริโภคและสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ในด้านงานดีไซน์และผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ที่เข้มแข็ง
นครราชสีมา ฮอนด้า ออโตโมบิล
ยานยนต์ บริษัทก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ 2548 โดยเป็นผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ซีดานฮอนด้ารุ่นใหม่ในจังหวัดนครราชสีมา พร้อมนำเสนอกรมธรรม์ประกันภัย รวมถึงบริการเช่ารถ บริการตกแต่งและทำสีรถยนต์แก่ลูกค้า บริษัทตั้งเป้าหมายในการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในขั้นตอนการขายและการเรียกร้องประกันภัย รวมถึงขยายบริการแก่ลูกค้าในส่วนบริการเช่ารถ บริการตกแต่งและทำสีรถยนต์
ออกานิก้า เฮ้าส์
ค้าปลีก ออกานิก้า เฮ้าส์ คือ ผลิตภัณฑ์สปาและอโรมาเธอราพีระดับลักชัวรี่ จำหน่ายผลิตภัณฑ์สปาและสกินแคร์ รวมถึงมีบริการห้องอาหารของตนเอง เนื่องจากมีกำหนดเปิดแฟล็กชิปสโตร์ที่บ้านสีลมในเร็ว ๆ นี้ ออกานิก้า เฮ้าส์ จึงวางแผนบูรณาการระบบธุรกิจเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีความเข้าใจในลูกค้าอย่างถ่องแท้ และใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าในต่างประเทศ
โอเรียนสตาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล โลจีสติคส์
การขนส่งสินค้า โอเรียนสตาร์ คือผู้ให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ นำเสนอบริการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ทั้งทางทะเลและทางอากาศ บริษัทต้องการปรับปรุงขั้นตอนการทำงานและประสิทธิภาพของธุรกิจโดยรวม และยกระดับข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อเสริมสร้างบริการขนส่งสินค้าให้แข็งแกร่ง
ทวีโชค พาณิช
อุตสาหกรรมการผลิต ทวีโชค พาณิช คือผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กที่ผ่านการรับรอง พร้อมบริการผลิตตามสั่ง อาทิ การตัดตามความยาว การตัดขึ้นรูปและการบีบอัด บริษัทต้องการสร้างความโปร่งใสและประสิทธิภาพการทำงานให้มากขึ้นในห่วงโซ่มูลค่าทั้งหมด นับตั้งแต่โรงโม่ไปจนถึงผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าปลีก และผู้ซื้อ ด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้รับประโยชน์
วอริกซ์
ค้าปลีก วอริกซ์คือแบรนด์ผู้ค้าส่งและค้าปลีกเครื่องแต่งกายกีฬาชื่อดัง และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลิตชุดแข่งขันฟุตบอลทีมชาติไทย วอริกซ์ต้องการปฏิรูปธุรกิจผ่านการสร้างแพล็ตฟอร์มแบบธุรกิจสู่ธุรกิจสู่ผู้บริโภค (B2B2C) สำหรับบรรดาผู้จัดจำหน่ายในการขายผลิตภัณฑ์ และเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารจัดการให้แก่ผู้ค้าปลีกเหล่านี้

วันที่  4 มิถุนายน  2562
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
สายงานบริหารสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร
ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)
นิดา ภู่วนิชย์ โทร . 0-2343-4963