ในยุคที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันทางธุรกิจที่สูง ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวอย่างมีกลยุทธ์เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน นอกจากความรู้ทางด้านธุรกิจแล้ว Entrepreneurial Mindset ที่แข็งแกร่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจสามารถฝ่าฟันอุปสรรค ก้าวข้ามวิกฤต และนำพาธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน
Entrepreneurial Mindset คืออะไร
แนวคิดแบบผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset) คือ กรอบความคิดที่มุ่งเน้นไปที่การมองหาโอกาส สร้างคุณค่า และลงมือทำอย่างมีวิสัยทัศน์ แม้จะอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความเสี่ยงทางธุรกิจ กรอบความคิดนี้อาจแตกต่างจากกรอบความคิดของคนทั่วไปเนื่องจากมองว่าปัญหา คือ จุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และไม่ใช่ข้อจำกัด
คุณลักษณะสำคัญของ Entrepreneurial Mindset
แนวคิดแบบผู้ประกอบการมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนให้บุคคลสามารถสร้าง พัฒนา และขยายธุรกิจให้เติบโตได้อย่างมั่นคงในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว คุณลักษณะเหล่านี้ไม่เพียงแต่จำเป็นต่อการทำธุรกิจเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน การแก้ปัญหา และการพัฒนาตนเองได้อีกด้วย โดยคุณลักษณะสำคัญที่ควรมี ได้แก่
- มองเห็นโอกาสในทุกสถานการณ์ (Opportunity Recognition)
ผู้ที่มีแนวคิดแบบผู้ประกอบการมักมองเห็นโอกาสแม้ในสถานการณ์ที่คนอื่นมองว่าเป็นอุปสรรค เช่น ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้อย่างไร หรือจะสร้างคุณค่าอะไรจากสิ่งที่ยังไม่มีใครทำเพื่อนำมาสร้างเป็นสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ตลาดได้
- คิดแบบเจ้าของ (Ownership Mindset)
มีความรับผิดชอบและรู้สึกว่าเป็นเจ้าของในงานที่ทำไม่ว่าจะเป็นงานเล็กหรือใหญ่ คิดและวางแผนระยะยาว กล้าตัดสินใจแม้ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและพร้อมรับผลจากการกระทำของตนเอง ไม่ผลักภาระให้ผู้อื่น
- กล้าลองผิดลองถูก (Calculated Risk-Taking)
ไม่กลัวความล้มเหลว แต่รู้จักประเมินความเสี่ยงอย่างรอบคอบและยอมรับว่าความล้มเหลวคือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ กล้าทดลองแนวคิดใหม่ๆ แม้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าประสบความสำเร็จได้ โดยพร้อมเรียนรู้และปรับปรุงจากข้อผิดพลาดนั้น
- มีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)
ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างความแตกต่างในตลาด ผู้ที่มีแนวคิดแบบผู้ประกอบการจะมองปัญหาในมุมใหม่ คิดนอกกรอบ และหาวิธีการใหม่ๆ ในการพัฒนาสินค้า กระบวนการ หรือประสบการณ์ของลูกค้า
- ยืดหยุ่น ปรับตัวเร็ว (Adaptability)
สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ไม่ยึดติดกับวิธีการเดิมๆ พร้อมเปิดรับการเปลี่ยนแปลงและหาแนวทางใหม่ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อให้สอดรับกับโลกธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
- เน้นลงมือทำ (Action-Oriented)
เริ่มลงมือทำทันที โดยไม่รอให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบแล้วจึงเริ่มลงมือทำ จากนั้นจึงค่อยปรับปรุงสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีขึ้นตามข้อมูลหรือผลลัพธ์ที่ได้รับอย่างต่อเนื่อง
- มุ่งมั่นและไม่ยอมแพ้ง่าย (Grit & Resilience)
การเริ่มต้นทำสิ่งใหม่มักมีอุปสรรคเสมอ ผู้ที่มีแนวคิดแบบผู้ประกอบการจะมีความมุ่งมั่น ฝ่าฟันอุปสรรค อดทนกับความยากลำบาก ไม่ยอมแพ้ต่อแรงกดดัน และลุกขึ้นสู้ใหม่ได้เมื่อเกิดความผิดพลาดหรือล้มเหลว
- เรียนรู้ตลอดเวลา (Lifelong Learning)
เมื่อโลกธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงเป็นหัวใจสำคัญของแนวคิดแบบผู้ประกอบการ ต้องไม่หยุดพัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ทำงาน การอ่าน หรือแม้แต่การเรียนรู้จากความผิดพลาด เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพและนำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การพัฒนาทักษะและทัศนคติที่ช่วยสร้าง Entrepreneurial Mindset
ผู้ประกอบการและเจ้าของกิจการสามารถสร้างแนวคิดแบบผู้ประกอบการให้กับตนเองได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้และฝึกฝนอย่างต่อเนื่องผ่านแนวทางเหล่านี้
- การพัฒนาทักษะการคิดเชิงบวก
การฝึกมองสถานการณ์ต่างๆ ด้วยมุมมองที่เป็นบวก ฝึกมองปัญหาให้เป็นโอกาสในการเรียนรู้และการพัฒนา ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ทางธุรกิจได้
- การจัดการความเครียด
ฝึกสมาธิ และฝึกที่จะปล่อยวางในเวลาที่เหมาะสมเพื่อรักษาสมดุลทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ทำให้สามารถตัดสินใจได้อย่างมีสติเมื่อต้องเผชิญกับแรงกดดันจากภายนอก
- การตัดสินใจที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ฝึกการคิดเชิงกลยุทธ์ และฝึกทักษะในการวิเคราะห์ปัญหาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้อย่างทันท่วงทีในสถาณการณ์เร่งด่วน พร้อมกับการเตรียมแผนรับมือหรือแผนสำรองที่เหมาะสมหากผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
- การเรียนรู้จากการลงมือทำจริง
การลงมือทำจริงด้วยตนเองจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าใจและเรียนรู้ปัญหาที่แท้จริงได้เร็วกว่าการคิดหรือวางแผนแต่เพียงอย่างเดียว
- การเปิดใจรับฟังข้อเสนอแนะ
ความกล้าในการรับฟังคำวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์จากลูกค้า เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่คู่แข่ง จะช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและธุรกิจอย่างแท้จริง
- การสร้างนิยามความสำเร็จของตนเอง
ฝึกสร้างนิยามของความสำเร็จในด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตัวเงินให้กับตนเอง เช่น การได้ช่วยเหลือชุมชน การเติบโตอย่างยั่งยืนโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือการมีเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น
- การสร้างเป้าหมายร่วมกันให้กับทีม
หมั่นสื่อสารวิสัยทัศน์และเป้าหมายขององค์กรให้พนักงานได้รับทราบและเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ทีมงานรู้สึกมีส่วนร่วมและมีแรงกระตุ้นที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และความสำเร็จของธุรกิจ
- การสร้างบรรยากาศแห่งการสร้างสรรค์
ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเปิดพื้นที่ให้พนักงานได้ลองผิดลองถูกในการทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อนำไปต่อยอดสู่การพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง
ทัศนคติ คือ รากฐานสำคัญของความสำเร็จโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ต้องรับมือกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนทางธุรกิจอยู่ตลอดเวลา การพัฒนา Entrepreneurial Mindset เพื่อเพิ่มทัศนคติในเชิงบวกที่มีต่อปัญหา ความมุ่งมั่น ความคิดสร้างสรรค์ การกล้าลองผิดลองถูก และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโดไปได้อย่างยั่งยืน สำหรับผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจ SME ที่มีไอเดียและพร้อมจะขยายธุรกิจแต่ยังขาดเงินลงทุน UOB BizMoney สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดเล็ก วงเงินสูงสุด 5 ล้านบาท ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคุณ อย่ารอที่จะประสบความสำเร็จ เพราะเมื่อกรอบความคิดเปลี่ยน ธุรกิจก็เปลี่ยน
เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด
ข้อมูลอ้างอิง
- พิกัด 7 คุณลักษณะ Intrapreneur ทัศนคติแบบผู้ประกอบการที่พนักงานควรมี. สืบค้นวันที่ 21 เมษายน 2568
จาก https://th.jobsdb.com/th/career-advice/article/intrapreneur
- พิกัด Entrepreneurial Mindset คืออะไร? 8 Mindset ปั้นธุรกิจให้ปัง. สืบค้นวันที่ 21 เมษายน 2568
จาก https://contentbooknotes.com/self-development/entrepreneurial-mindset/
- พิกัด Entrepreneurial Mindset แนวคิดการเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่. สืบค้นวันที่ 21 เมษายน 2568
จาก https://www.timeconsulting.co.th/what-is-entrepreneurial-mindset